เมนู

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณ คือ การบรรลุอนุปาทิเสสนิพพาน
ของพระขีณาสพ ที่สดับปริยัตติธรรม ที่ตรัสด้วย 2 คาถาก่อนนั้น ทั้งปฏิบัติ
ตามแนวปริยัติธรรมที่สดับแล้ว บรรลุโลกุตรธรรมทั่ง 9 ประการ อย่างนี้
แล้ว บัดนี้ ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นแล เมื่อทรงประกอบสัจจวจนะ มีสังฆรัตนะ
เป็นที่ตั้ง จึงทรงจบเทศนาว่า อิทมฺปิ สงเฆ เป็นต้น ความของสัจจวจนะ
นั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั่นแล. แต่พึงประกอบความอย่าง
เดียวอย่างนี้ว่า คุณชาตกล่าวคือพระนิพพานของภิกษุขีณาสพ โดยประการ
ตามที่กล่าวมาแล้ว แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์. พวกอมนุษย์
ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถานี้แล.
จบเทศนา ความสวัสดีก็ได้มีแก่ราชสกุล. อุปัทวะทั้งปวงก็ระงับ
ไป สัตว์ 84,000 ก็ได้ตรัสรู้ธรรม.


พรรณนา 3 คาถาว่า ยานีธ เป็นต้น


ครั้งนั้น ท้าวสักกะเทวราช ทรงพระดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรง
อาศัยคุณพระรัตนตรัย ประกอบสัจจวจนะ ทรงทำความสวัสดีแก่ชาวนคร.
แม้ตัวเราก็พึงกล่าวบางอย่างอาศัยคุณพระรัตนตรัย เพื่อความสวัสดีแก่ชาวนคร
ดังนี้แล้วจึงตรัส 3 คาถาท้ายว่า ยานีธ ภูตานิ เป็นต้น. ใน. 3 คาถานั้น
เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างที่คนทั้งหลาย
ต้องขวนขวายพากันมาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก, เพราะเสด็จไปอย่างที่คน
เหล่านั้น จะพึงไป เพราะทรงรู้ทั่วอย่างที่คนเหล่านั้นจะพึงรู้ทั่ว, เพราะทรง
รู้อย่างที่คนเหล่านั้นจะพึงรู้, เพราะทรงประสบสิ่งที่มีที่เป็นอย่างนั้น อนึ่ง
เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บูชาอย่าง.
เหลือเกิน ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น ที่เกิดภายนอก เป็นอุปกรณ์และที่

เกิดในตนมีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นต้น ฉะนั้น ท้าวสักกะเทวราช
ทรงประมวลเทวบริษัททั้งหมดกับพระองค์แล้วตรัสว่า ตถาคต เทวมนุสฺส-
ปูชิตํ พุทฺธํ นมสฺสาม สุวตฺถิ
โหตุ พวกเรานอบน้อมพระตถาคตพุทธเจ้า
ผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดี จงมี.
อนึ่ง เพราะเหตุที่ในพระธรรม มรรคธรรมดำเนินไปแล้วอย่างที่พึง
ดำเนินไปด้วยการถอนฝ่ายกิเลส ด้วยกำลังสมถวิปัสสนาซึ่งเป็นธรรมคู่กัน
แม้นิพพานธรรมอันพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงบรรลุแล้วอย่างที่ทรงบรรลุ คือ
แทงตลอดแล้วด้วยปัญญา พร้อมที่จะกำจัด ทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้น ท่านจึงเรียก
ว่าตถาคต. อนึ่ง เพราะเหตุที่แม้พระสงฆ์ดำเนินไปแล้วอย่างที่ท่านผู้ปฏิบัติ
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนพึงดำเนินไปโดยมรรคนั้น ๆ เหตุนั้น ท่านจึงเรียก
ว่าตถาคต. ฉะนั้น แม้ใน 2 คาถาที่เหลือ ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า พวก
เรานอบน้อมตถาคตธรรม ขอความสวัสดีจงมี พวกเรานอบน้อมตถาคตสงฆ์
ขอความสวัสดีจงมี ดังนี้. คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น.
ท้าวสักกะเทวราชครั้นตรัส 3 คาถานี้ อย่างนี้แล้ว ทรงทำประทักษิณ
พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จกับสู่เทวบุรีพร้อมด้วยเทวบริษัท. ส่วนพระผู้มี
พระภาคเจ้าทรงแสดงรัตนสูตรนั้นนั่นแล. แม้ในวัน ที่ 2 สัตว์ 84,000 ก็ได้
ตรัสรู้ธรรม. ทรงแสดงอย่างนี้ ถึงวันที่ 7. การตรัสรู้ธรรมก็ได้มีอย่างนั้นนั่น
แหละ ทุก ๆ วัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงเวสาลีกึ่งเดือนแล้ว จึง
ทรงแจ้งแก่พวกเจ้าลิจฉวีว่าจะกลับ ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวี ก็นำเสด็จพระผู้มี
พระภาคเจ้าสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ด้วยสักการะเป็นทวีคุณอีก 3 วัน เหล่าพระยา
นาคที่บังเกิดอยู่ ณ แม่น้ำคงคาคิดกันว่า พวกมนุษย์ทำสักการะแก่พระตถาคต
กัน พวกเราจักไม่ทำกันบ้างหรือ จึงสร้างเรือหลายลำล้วนทำด้วยทองเงินและ

แก้วมณี ลาดบัลลังก์ทำด้วยทองเงินและแก้วมณี ทำน้ำให้ปกคลุมด้วยบัว 5
สี ทูลวอนขอพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระองค์โปรดทรงทำความอนุเคราะห์
พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้งทรงรับ เสด็จ ขึ้นสู่เรือแก้ว ส่วน
ภิกษุ 500 รูป ก็ขึ้นสู่เรือของตนๆ. พวกพระยานาค นำเสด็จพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เจ้าไปยังพิภพนาค. ข่าวว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค
เจ้า ทรงแสดงธรรมแก่นาคบริษัท ตลอดคืนยังรุ่ง. วันที่ 2 พวกพระยานาค
พากันถวายมหาทานด้วยของเคี้ยวของฉันอันเป็นทิพย์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
อนุโมทนาแล้วเสด็จออกจากพิภพนาค.
พวกภุมมเทวดาพากันคิดว่า พวกมนุษย์และนาคพากันทำสักการะแก่
พระตถาคต พวกเราจักไม่ทำกันบ้างหรือ จึงช่วยกันยกฉัตรใหญ่น้อย เหนือ
พุ่มไม้งามในป่า ต้นไม้ และภูเขา. โดยอุบายนั้นนั่นแล สักการะวิเศษขนาด
ใหญ่ ก็บังเกิดคราบถึงภพของอกนิษฐพรหม. แม้พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ทรงทำ
เป็นทวีคูณ กว่าสักการะที่พวกเจ้าลิจฉวีทรงทำครั้งที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จ
มา ทรงนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า. วันจึงมาถึงกรุงราชคฤห์ โดยนัยที่กล่าว
มาก่อนแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จถึงกรุงราชคฤห์แล้ว ภายหลังอาหาร พวก
ภิกษุที่นั่งประชุมกัน ณ ศาลาทรงกลมพูดในระหว่างกันอย่างนี้ว่า โอ อานุภาพ
ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า. ที่ภูมิภาค 8 โยชน์ ทั้งฝั่งในทั้งฝั่งนอกแห่ง
แม่น้ำคงคา ถูกเจาะจงปรับที่ลุ่มที่ดอนให้เรียบแล้วโรยทราย ปกคลุมด้วย
ดอกไม้ทั้งหลาย แม่น้ำคงคาประมาณโยชน์หนึ่งก็ถูกปกคลุมด้วยบัวสีต่าง ๆ
ฉัตรใหญ่น้อยถูกยกขึ้นตราบถึงภพของอกนิษฐพรหม. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
ทราบเรื่องนั้นแล้ว ออกจากพระคันธกุฏีเสด็จไปยังศาลาทรงกลมด้วยปาฏิหาริย์ที่

เหมาะแก่ขณะนั้น ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันประเสริฐที่เขาจัดไว้ ณ ศาลา
ทรงกลม. ครั้นประทับนั่งแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้ พวกเธอนั่งประชุมพูดกัน ด้วยเรื่องอะไร ภิกษุ
ทั้งหลายก็กราบทูลเรื่องทั้งหมด. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย บูชาวิเศษนี้มิได้บังเกิดเพราะพุทธานุภาพของเรา ทั้งมิใช่เพราะ
อานุภาพของนาคเทวดาและพรหม ที่แท้บังเกิดเพราะอานุภาพของการบริจาค
เล็กๆ น้อย ๆ แต่ก่อนต่างหาก. พวกภิกษุจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พวกข้าพระองค์ไม่รู้การบริจาคเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น สาธุ ! ขอพระผู้มีพระภาค-
เจ้าโปรดตรัสบอกพวกข้าพระองค์ อย่างที่พวกข้าพระองค์จะรู้การบริจาคเล็ก ๆ
น้อย ๆ นั้นด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่อง
เคยมีมาแล้วในกรุงตักกสิลา มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง ชื่อ สังขะ. เขามีบุตร ชื่อ
สุสีมมาณพ. มาณพนั้น อายุ 16 ปีโดยวัย วันหนึ่งเข้าไปหาบิดากราบแล้ว
ยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง. บิดาถามเขาว่า อะไรพ่อสุสีมะ. เขาตอบว่า ลูก
อยากไปกรุงพาราณสีเรียนศิลปะจ้ะพ่อท่าน. พราหมณ์กล่าวว่า พ่อสุสีมะ ถ้า
อย่างนั้น พ่อมีสหายเป็นพราหมณ์ชื่อโน้น พ่อจงไปหาเขาเล่าเรียนเถิด แล้ว
มอบทรัพย์ให้พันกหาปณะ. สุสีมมาณพนั้น รับทรัพย์แล้ว ก็กราบมารดาบิดา
เดินทางไปกรุงพาราณสีโดยลำดับ เข้าไปหาอาจารย์โดยวิธีประกอบด้วยความ
ละเอียดละไม กราบแล้วรายงานตัว อาจารย์รู้ว่าเป็นลูกของสหาย ก็รับมาณพ
ไว้ ได้ทำการต้อนรับอย่างดีทุกอย่าง มาณพนั้นคลายความเมื่อยล้าในการเดิน
ทางไกลแล้ว ก็วางกหาปณะนั้นแทบเท้าอาจารย์ ขอโอกาสเรียนศิลปะ. อาจารย์
ก็เปิดโอกาสให้เล่าเรียน เขาเรียนได้เร็วและเรียนได้มาก ทั้งทรงจำศิลปะที่
รับ ไว้ ๆ ได้ไม่เสื่อมสูญ เหมือนน้ำมันที่ใส่ลงในภาชนะทอง เขาเรียนศิลปะที่
ควรจะเรียนถึง 12 ปี ให้เสร็จสรรพ์ได้โดย 2 - 3 เดือนเท่านั้น เขาทำการ

สาธยายเห็นแต่เบื้องต้นและเบื้องกลางเท่านั้นไม่เห็นเบื้องปลาย จึงเข้าไปหา
อาจารย์ถามว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าเห็นแต่เบื้องต้น และเบื้องกลางของศิลปะ
นี้เท่านั้น ไม่เห็นเบื้องปลายเลย อาจารย์ก็กล่าวว่า เราก็เห็นอย่างนั้นเหมือน
กันแหละพ่อเอ๋ย. เขาจึงถามว่า ท่านอาจารย์เมื่อเป็นดังนั้น ใครเล่ารู้เบื้อง
ปลายของศิลปะนี้. อาจารย์กล่าวว่าพ่อเอ๋ย ที่ป่าอิสิปตนะมีฤษีหลายองค์ ฤษี
เหล่านั้น คงรู้. เขาบอกว่า อาจารย์ ข้าพเจ้าจะเข้าไปถามฤษีเหล่านั้นเอง.
อาจารย์ก็บอกว่า ไปถามตามสบายเถิด พ่อเอ๋ย. เขาก็ไปยังป่าอิสิปตนะ เข้า
ไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านรู้เบื้องปลายศิลปะ
บ้างไหม. พระปัจเจกพุทธเจ้า กล่าวว่า เออ เรารู้สิท่าน. เขาอ้อนวอนว่า
โปรดให้ข้าพเจ้าศึกษาเบื้องปลายศิลปะนั้นเถิด. พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้า
อย่างนั้น ก็บวชเสียสิ ท่านผู้ไม่ใช่นักบวช ศึกษาไม่ได้ดอก. เขารับคำว่า
ดีละเจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าบวชเถิด. ท่านจงทำแต่ที่ท่านปรารถนาแล้วให้
ข้าพเจ้าศึกษาเบื้องปลายศิลปะก็แล้วกัน. พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้เขา
บวชแล้ว ก็ไม่สามารถประกอบเขาไว้ในกรรมฐาน ให้ศึกษาได้แต่อภิสมาจาร
โดยนัยเป็นต้นว่า ท่านพึงนั่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้. เขาศึกษาอยู่ในข้อนั้น
แต่เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสสัย ไม่นานนักก็ตรัสรู้ปัจเจกโพธิญาณ. ท่าน
สุสีมะถึงลาภยศอันเลิศพรั่งพร้อมทั้งบริวาร ก็ปรากฏไปทั่วกรุงพาราณสีว่า เกิด
เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ไม่นานนัก ท่านก็ปรินิพพาน เพราะทำกรรม
ที่เป็นเหตุให้อายุสั้นไว้. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายและหมู่มหาชน ช่วยกัน
ทำฌาปนกิจสรีระของท่าน เก็บธาตุสร้างพระสถูปไว้ใกล้ประตูพระนคร.
ฝ่ายสังขพราหมณ์ คิดว่า ลูกของเราไปตั้งนานแล้ว ยังไม่รู้ข่าวคราว
ของเขาเลย ประสงค์จะพบบุตร จึงออกจากตักกสิลา เดินทางไปตามลำดับก็

ถึงกรุงพาราณสี เห็นหมู่มหาชนประชุมกัน คิดว่าในหมู่ชนเป็นอันมาก สักคน
หนึ่ง คงจักรู้ข่าวคราวลูกของเราแน่แท้ จึงเข้าไปที่กลุ่มชนถามว่า มาณพชื่อ
สุสีมะมาในที่นี้มีไหม ท่านรู้ข่าวคราวของเขาบ้างหรือหนอ ชนเหล่านั้น กล่าว
ว่า เออ พราหมณ์ พวกเรารู้ ท่านเรียนจบไตรเพท ในสำนักพราหมณ์ใน
พระนครนี้แล้ว บวชในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นพระปัจเจก-
พุทธเจ้า ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้ว นี้พระสถูป เราสร้าง
ไว้สำหรับท่าน. สังขพราหมณ์นั้นเอามือทุบแผ่นดิน ร่ำไห้รำพันไปยังลาน
เจดีย์นั้น ถอนหญ้าแล้ว เอาผ้าห่มห่อทรายนำไปเกลี่ยที่ลานเจดีย์พระปัจเจก
พุทธเจ้า เอาน้ำในคนโทน้ำประพรม ทำการบูชาด้วยดอกไม้ป่า เอาผ้าห่มยกขึ้น
ทำเป็นธง ผูกฉัตรคือร่มของตนไว้บนสถูปแล้วกลับไป.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว เมื่อทรงต่อ
เชื่อมชาดก. นั้นกับปัจจุบันจึงตรัสธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจะพึงมีความคิดว่า คนอื่นเป็นสังขพราหมณ์สมัยนั้น แน่แท้ แต่พวก
เธอไม่พึงเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราเป็นสังขพราหมณ์ เราถอนหญ้าที่ลานเจดีย์
ของพระสุสีมปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงทำทาง 8
โยชน์ให้ปราศจากตอและหนาม ทำพื้นที่ให้ราบเรียบ สะอาด เราโรยทรายที่
ลานเจดีย์พระสุสีมปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลาย
จึงโรยทรายที่หนทาง 8 โยชน์ เราทำบูชาที่พระสถูปนั้น ด้วยดอกไม้ป่า ด้วย
ผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงได้ทำเครื่องลาคดอกไม้ด้วยดอกไม้ป่านานา
ชนิด ทั้งบนบกทั้งในน้ำ ในหนทาง 8 โยชน์ เราประพรมพื้นดินด้วยน้ำใน
คนโทน้ำที่พระสถูปนั้น ด้วยผลกรรมของเรานั้น ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงที่
กรุงเวสาลี เรายกธงแผ่นผ้าและผูกฉัตรที่พระเจดีย์นั้น ด้วยผลกรรมของเรา

นั้น ชนทั้งหลายจึงยกธงแผ่นผ้าและฉัตรใหญ่น้อย จนถึงภพอกนิษฐ์.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น บูชาวิเศษนี้ ไม่ใช่บังเกิดเพราะพุทธานุภาพของ
เรา ไม่ใช่เพราะอานุภาพของนาค เทวดา และพรหมดอก ที่แท้ บังเกิด
เพราะอานุภาพของการบริจาคเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่างหากเล่า. จบธรรมกถา ได้
ตรัสพระคาถานี้ว่า
มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ.
ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะสละสุขพอ
ประมาณไซร้ ผู้มีปัญญาเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์พึงสละ
สุขพอประมาณเสีย ดังนี้.

จบพรรณารัตนสูตร
แห่ง
อรรถกถาขุททกปาฐะ ชื่อปรมัตถโชติกา

ติโรกุฑฑสูตร


ว่าด้วยการให้ส่วนบุญแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสาร เป็นคาถาว่า
[8] ฝูงเปรตพากันมายังเรือนของตน ยืนอยู่ที่
นอกฝาเรือนบ้าง ยืนอยู่ที่ทาง 4 แพร่ง 3 แพร่งบ้าง
ยืนอยู่ใกล้บานประตูบ้าง.
เมื่อข้าวน้ำ ของเคี้ยว ของกินเขาวางไว้เป็นอัน
มาก ญาติไร ๆ ของเปรตเหล่านั้น ก็ระลึกไม่ได้ เพราะ
กรรมของสัตว์ทั้งหลายเป็นปัจจัย.
ชนเหล่าใด เป็นผู้เอ็นดู ชนเหล่านั้นย่อมให้น้ำ
ข้าว อันสะอาด ประณีต อันสมควร ตามกาล อุทิศ
เพื่อญาติทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ขอทานนี้แล จงมีแก่
ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลาย จงมีสุขเถิด.
ส่วนฝูงเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้น มาแล้ว พร้อม
แล้ว ก็ชุมนุมกันในที่ให้ทานนั้น ย่อมอนุโมทนาโดย
เคารพ ในข้าวน้ำเป็นอันมากว่า เราได้สมบัติเพราะ
เหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติเหล่านั้น ของเรา จงมี
ชีวิตยั่งยืน ทั้งการบูชา ญาติผู้เป็นทายกก็ได้กระทำแก่
พวกเราแล้ว อนึ่ง ทายกทั้งหลาย ย่อมไม่ไร้ผล.
ในปิตติวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรมการทำไร่การทำ
นาไม่มีโครักขกรรม การเลี้ยงโค. ในปิตติวิสัยนั้น การ
ค้าเช่นนั้น การซื้อขายด้วยเงิน ก็ไม่มี.